ธุรกิจคาสิโน ‘อาเซียน’ กับความท้าทาย ยักษ์ใหญ่ ‘มาเก๊า’

ธุรกิจกาสิโน 'อาเซียน' กับความท้าทาย ยักษ์ใหญ่ ‘มาเก๊า’

คาสิโน อุตสาหกรรมซอกหลืบที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาล หากมองภาพรวมในเอเชีย ภาพแรกที่นึกถึงคงไม่พ้นมาเก๊า แต่วันนี้โลกเหวี่ยงแรง ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นม้ามืดที่น่าจับตามอง
ถ้าเป็นเมื่อก่อน เวลาพูดถึงธุรกิจการพนันในเอเชีย สถานที่แรกที่หลายคนคงนึกถึง ก็คือ “มาเก๊า” ซึ่งถือว่าเป็นเมืองหลวงแห่งการพนันโลกเลยก็ว่าได้ โดยภาษีจากคาสิโนมากกว่า 80% สามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล

แต่อนาคตมาเก๊าคงต้องรับมือกับความท้าทายครั้งใหญ่ เพราะว่าอุตสาหกรรมการพนันในเอเชียตะวันออกเฉียงกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากบทความ Casino business booming in ASEAN บนเว็บไซต์เดอะ อาเซียน โพสต์ ได้เขียนอธิบายไว้ว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราวดอกเห็ด แถมไม่ใช่เพียงเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ในแง่ของรายได้จากส่วนนี้ก็สูงขึ้นมากเช่นกัน

ทั้งนี้ บทความดังกล่าวได้เอ่ยไล่ไปตั้งแต่ ศูนย์กลางของการพนันที่เป็นที่รู้จักอย่าง “สิงคโปร์” โดยโซน “มารีน่า เบย์” เป็นสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจำนวนมาก ทำให้ปี 2562 ที่ผ่านมา มีความต้องการแรงงานเพิ่มในโซนนี้ราวๆ 1,000 คน แต่สำหรับประชาชนในประเทศ ยังมีข้อจำกัดในการเข้าไปเล่นการพนันในคาสิโนค่อนข้างมาก

นอกจากสิงคโปร์ ยังมีอีกหนึ่งศูนย์กลางการพนันที่รู้จักกันว่าเป็นเมืองแห่งเอ็นเตอร์เทนเมนต์ นั่นก็คือ “ฟิลิปปินส์” ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับครบครัน เช่น การประชุม สวนสนุก และคาสิโน รวมถึงรีสอร์ท ซึ่งมี Solaire Resort & Casino and Genting’s Resorts World Bayshore เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ

ขณะที่ “เวียดนาม” เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลได้ยกเลิกคำพิพากษาที่ว่า การเล่นเกมการพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมายสำหรับประชาชนในประเทศ รวมถึงยังบรรจุกาสิโน เป็นหนึ่งในโครงการที่วางแผนไว้ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ​Phu Quoc และ Van Don ด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถดึงคลื่นการลงทุนกาสิโนเข้ามาภายในประเทศได้ ทั้งนี้หนึ่งในโครงการที่ใหญ่ที่สุด มีชื่อว่าโครงการ Ho Tram Strip มีมูลค่ากว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากแล้วเสร็จจะประกอบด้วย รีสอร์ททั้งหมด 5 แห่ง และสนามกอล์ฟ 1 แห่ง

สิ่งที่น่าสนใจและต้องจับตามองคือ ตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกิดการลงทุนกาสิโนและรีสอร์ทแบบครบวงจร คือตัวเลข “นักท่องเที่ยวจีน” ที่เพิ่มมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนโยบาย “เส้นทางสายไหมใหม่” (One belt one road) ของจีน และเป็นเหตุผลหนึ่งที่เวียดนามพยายามพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสองแห่งด้วย